อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflamatory Disease) เชื่อว่าผู้หญิงหลายๆคนไม่รู้จักและไม่ทราบว่าอุ้งเชิงกรานอักเสบคืออะไร เพราะอาการที่แสดงออกมาส่วนมากจะคล้ายๆกับคนเป็นประจำเดือนปกติ เลยอาจจะทำให้แยกไม่ออกว่าคืออาการอะไรกันแน่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอุ้งเชิงกรานอักเสบกัน ว่าคืออะไร อันตรายมากไหม รักษาอย่างไร และมีวิธีป้องกันหรือไม่
อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) คืออะไร?
อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflamatory Disease) คือ การติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง บริเวณมดลูก ปีกมดลูก และท่อนำไข่ ซึ่งการติดเชื้อนั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หรือหนองในเทียม ซึ่งมักเกิดบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก หากไม่ทำการรักษาก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปบริเวณอื่นในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยโรคนี้มักเกิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25 ปี หรือน้อยกว่านั้น และยังส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
อุ้งเชิงกรานอักเสบ อาการเป็นอย่างไร?

- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือท้องน้อย
- รู้สึกเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ
- รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด โดยเฉพาะหลังหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น อาจมีสีเขียวหรือสีเหลือง
- ประจำเดือนมามาก
ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงขึ้นหากมีอาการดังนี้ควรรีบไปพบแพทย์
- ไม่สบายตัว หนาวสั่น มีไข้
- ปวดท้องรุนแรง
อุ้งเชิงกรานอักเสบเกิดจากสาเหตุอะไร
สาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบจะพบประมาณ 1 ใน 4 รายมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในแท้ หรือโรคหนองในเทียม โดยผู้ป่วยมักเริ่มติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณปากมดลูกก่อน ซึ่งสามารถรักษาหายได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะ หากได้รับการรักษาไม่เหมาะสมหรือรักษาล่าช้า ก็อาจทำให้แบคทีเรียนั้นแพร่กระจายเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ได้
สาเหตุอื่น ๆ
สาเหตุการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบในหลายกรณีนั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ซึ่งโดยปกติในช่องคลอดก็มีแบคทีเรียที่ไม่เป็นอันตรายอาศัยอยู่ แต่แบคทีเรียเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้หากเข้าไปในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่เคยเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมาก่อน หรือเคยทำหัตถการเกี่ยวกับปากมดลูก เช่น การตรวจภายในมดลูก การทำแท้ง หรือการใส่อุปกรณ์คุมกำเนิดเข้าไป เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือคู่นอนของเราเปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- ทำการสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างเชื้อแบคทีเรียชนิดที่เป็นประโยชน์และชนิดเป็นอันตรายในบริเวณช่องคลอด
- มีประวัติการเป็นภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
อุ้งเชิงกรานอักเสบ อันตรายไหม
โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบถ้าพบและรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นก็สามารถหายได้โดยที่ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจส่งผลให้มีโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณผู้หญิงควรตรวจเช็คภายในเป็นประจำทุกปีเพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายได้
การวินิจฉัยภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
1. การซักประวัติผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ซักประวัติสุขภาพ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาคุมกำเนิด ประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ความรุนแรง
2. การตรวจร่างกายและตรวจภายในผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ประเมินภาวะไข้และอาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
- ตรวจหาสารคัดหลั่งผิดปกติจากช่องคลอดและปากมดลูก
- ตรวจคลำอาการกดเจ็บ หรือก้อนในอุ้งเชิงกรานว่าบวมอักเสบหรือไม่
3. การตรวจชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก
การสุ่มตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูกผ่านทางปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อและการอักเสบของอุ้งเชิงกราน
4. การตรวจอัลตราซาวน์
ตรวจอัลตราซาวน์เพื่อประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
5. การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก
การผ่าตัด ในบางกรณีอาจใช้การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือ Laparoscopy โดยสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปดูอวัยวะภายใน และถ้ามีความจำเป็นอาจต้องเก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อเพิ่มด้วย การผ่าตัดในลักษณะนี้อาจทำกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ที่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากอุ้งเชิงกรานอักเสบ

- อาจทำให้มีฝีหนองคั่งเป็นก้อนบริเวณปีกมดลูกและอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกราน ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือรักษาอย่างไม่เพียงพอ ก้อนหนองอาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนหนองแตก
- เกิดมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
- ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- มีบุตรยากหรือเป็นหมัน
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก
วิธีรักษาอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบ

- ถ้าท่านมีอาการตกขาวมีกลิ่น มีเลือดออกช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ปัสสาวะเจ็บแสบ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เนื่องจากการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างทันเวลาจะป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
- แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะบางชนิดให้โดยทันที และอาจมีการปรับยาให้เหมาะสมเมื่อทราบผลการตรวจแล้ว ควรต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หากอาการไม่ตอบสนองกับยาชนิดรับประทาน อาการรุนแรง มีฝีหนอง หรือตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยอาจจะต้องได้รับการผ่าตัด หากก้อนฝีหนองใหญ่ ไม่ตอบสนองกับยาปฏิชีวนะ แตก หรือมีปัญหาในการวินิจฉัย
ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบกับปัญหาผู้มีบุตรยาก

การมีแผลเป็นจากการอักเสบหรือเคยเป็นฝีในท่อนำไข่ อาจทำให้ไข่ไม่สามารถผ่านเข้าไปในมดลูกได้ ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการตั้งครรภ์ ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบจะประสบภาวะมีบุตรยาก ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า
แนวทางการป้องกันภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- ป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ด้วยถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย เป็นต้น และไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย นอกจากนี้ ควรถามประวัติสุขภาพทางเพศของคู่นอน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศ
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะการสวนล้างจะทำลายความสมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- หากผู้ป่วยมีปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจและรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการกลับมาเกิดซ้ำของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ปรึกษาสุขภาพ : 021 752 666
ที่ตั้ง : บ้านเขาย้อย อำเภอศรีสัตตนาค
นครหลวงเวียงจันทน์ (ใกล้วัดศรีเมือง)
นัดหมายออนไลน์ ลงทะเบียนฟรี รับสิทธิพิเศษในการดูแล