โรคกลาก (Ringworm Tinea, Dermatophytosis) และโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor, Tinea versicolo) เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) พบได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย โดยโรคกลากจะเป็นวงแดงหรือขุยสีขาว อาจมีอาการอักเสบและคันร่วมด้วย สามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย ส่วนโรคเกลื้อนจะเป็นผื่นทรงกลมหรือทรงรี ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะมีสีจางหรือเข้มกว่าผิวปกติ โรคเกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ

โรคกลาก
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่ผิวหนัง ผิวหนังเป็นจุดแดงหรือปื้นแดง ขอบผื่นมีทั้งแบบที่ยกนูนหรือแบบเรียบ มีตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำรอบผื่น ผิวหนังแห้งเป็นขุยลอกหรือแตก กลากสามารถเกิดได้ในหลาย ๆ จุดของร่างกายและมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น กลากหรือเชื้อราที่ศีรษะ กลากที่เท้า กลากที่มือ กลากที่เล็บ กลากที่ลำตัว กลากที่ใบหน้า กลากที่ขาหนีบ เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่อพบว่ามีผื่นหรือตุ่มแดงเป็นวงขึ้นตามร่างกาย รักษาด้วยการทายารักษากลากด้วยตนเอง ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการลุกลามมากขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย
สำหรับอาการที่ตำแหน่งอื่น เช่น ที่หนังศรีษะ หากมีอาการผมร่วง เป็นรังแค มีผื่นแดงที่โคนผม หรือที่เล็บ หากมีอาการ เล็บหนา เปราะ มีสีเปลี่ยนไป หรือเล็บแยกตัวออกจากหนังใต้เล็บ ควรไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุ
โรคกลากเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งสามารถเจริญเติบโตบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนอยู่ในผิวหนังชั้นนอก เล็บ และเส้นผม โรคกลากสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรค หรือสัมผัสเชื้อราที่อยู่ในดินและทราย
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกลาก ได้แก่ ผิวหนังบริเวณที่เปียกชื้นบ่อย ๆ ผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีสูง นอกจากนั้นยังมีโอกาสเสี่ยงสูงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
การวินิจฉัย
เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ สอบถามอาการ ดูลักษณะและตำแหน่งของผื่นหรือรอยโรค โดยหากยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ แพทย์จะพิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยนำเซลล์ผิวหนังมาย้อมสี เพื่อตรวจหาเชื้อทางกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งมักจะพบการเปลี่ยนแปลง โดยผิวหนังชั้นนอกหนาตัวขึ้นและมีการสร้างเคราติน (Keratin) มากขึ้น ผิวหนังชั้นในที่เป็นหนังกำพร้ามีการบวมน้ำ พบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่รอบ ๆ หลอดเลือดในชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) และสามารถพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค
การรักษา
เมื่อเริ่มมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยให้โรคลุกลาม ยาที่ใช้รักษาอาจจะใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกันขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา สำหรับยาทาเฉพาะที่ แพทย์จะให้ยาชนิดที่เหมาะกับสภาพของผื่น เช่น ถ้าเป็นตามตัว มีสะเก็ด ผิวค่อนข้างแห้ง อาจใช้ยาทาที่เป็นขี้ผึ้ง แต่ถ้าเป็นบริเวณซอกที่อับชื้นหรือผื่นมีตุ่มหนอง ตุ่มน้ำใส ต้องใช้ยาประเภท ครีม ผง น้ำยาป้ายทา เป็นต้น
ส่วนยากิน ขนาดและระยะเวลาที่ให้จะต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเชื้อราที่ใด ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะหรือผิวหนัง จะกินยานานประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นเชื้อราที่เล็บมือจะให้กินนานประมาณ 4 – 6 เดือน ส่วนเชื้อราของเล็บเท้าไม่นิยมให้ยากิน เพราะไม่ทำให้หายขาดได้ ข้อสำคัญคือ ต้องรักษาความสะอาดอย่าให้เท้าอบ หรือเท้าเปียกชื้น เชื้อราตามซอกเท้าจะดีขึ้นโดยการใช้ยาทาเฉพาะที่
ภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน
โดยทั่วไปโรคกลากมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบภูมคุ้มกัน ที่อาจทำให้การรักษาหายช้า นอกจากนี้ การเกาผิวหนังบ่อย ๆ อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม ทำให้อาการรุนแรงขึ้น
สำหรับการป้องกันนั้น เนื่องจากการติดเชื้อจากการสัมผัสเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผิวหนังหรืออวัยวะส่วนอื่น
โรคเกลื้อน
อาการ
ผู้ป่วยจะเป็นผื่นแบนราบ รูปทรงกลมหรือทรงรี มีขอบเขตของผื่นที่ชัดเจน ผิวสัมผัสบริเวณที่เป็นผื่นจะเป็นขุยละเอียด อาจมีสีแตกต่างกันเนื่องจากการทำงานของเม็ดสีเปลี่ยนไป เช่น สีชมพู เทา น้ำตาล สีขาว ระยะเริ่มจะเป็นผื่นวงขนาดเล็กหลายวง ต่อมาวงผื่นอาจเชื่อมกัน กลายเป็นผื่นผิวหนังขนาดใหญ่ มักเป็นตามบริเวณลำตัว โดยเฉพาะที่หน้าอกและแผ่นหลัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค

สาเหตุ
โรคเกลื้อนมีสาเหตุจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia spp.) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดที่สามารถก่อโรคได้แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ Malassezia globosa, Malassezia sympodialis, Malassezia furfur เชื้อราเหล่านี้ปกติอาศัยอยู่เฉพาะผิวหนังชั้นนอก ในชั้นที่เรียกว่าชั้นขี้ไคลเท่านั้น เมื่อมีปัจจัยบางอย่าง เช่น สภาพอากาศที่ร้อนชื้นมาก ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด ปริมาณและชนิดของไขมันบนผิวหนัง ทำให้เชื้อราเปลี่ยนรูปร่าง ทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนัง
สำหรับผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเกลื้อน ได้แก่ เด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานมาก เนื่องจากอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ สอบถามอาการ ดูลักษณะและตำแหน่งของผื่นหรือรอยโรค โดยหากยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค
การรักษา
โรคเกลื้อนสามารถรักษาให้หายด้วยยาต้านเชื้อราในรูปแชมพู ครีม หรือยารับประทานก็ได้
- การใช้ครีมหรือเจลขจัดเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อรา มีพื้นที่เล็ก ๆ เป็นจุด อาจรักษาด้วยการทาครีมขจัดเชื้อรา วันละ 1 – 2 ครั้ง โดยไม่ต้องล้างออก
- การใช้แชมพูขจัดเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อรา เป็นผื่นกว้าง การทาแชมพูบริเวณที่ติดเชื้อราทิ้งไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออก และทาซ้ำนาน 5 – 7 วัน ทั้งนี้อาจต้องผสมน้ำเพื่อให้เจือจางลงก่อนทา
- การใช้ยาต้านเชื้อรา กรณีผิวหนังที่ติดเชื้อราเป็นบริเวณกว้าง หรือการใช้แชมพูและครีมไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจได้รับยาชนิดรับประทานจากแพทย์ เป็นระยะเวลา 1 – 4 สัปดาห์
ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เกลื้อนจะค่อย ๆ หายและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยผิวหนังจะเริ่มกลับมาเป็นสีปกติภายในระยะเวลา 1 – 2 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น โดยไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นแต่อย่างใด ทั้งนี้การตากแดดบ่อย ๆ จะช่วยเร่งผิวที่เป็นรอยด่างให้กลับมาเป็นสีเดิมได้เร็วขึ้น
ส่วนในผู้ที่เป็นเกลื้อนบ่อย ๆ และมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราให้รับประทาน 2 – 3 ครั้งต่อเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีก
ภาวะแทรกซ้อนและการป้องกัน
เกลื้อนไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพียงแต่จะทำให้ผิวหนังเกิดรอยด่างเป็นดวง ๆ แลดูไม่สวยงาม และอาจก่อให้เกิดความรำคาญในขณะที่มีอาการคัน โดยโรคเกลื้อนมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดเชื้อราเป็นประจำ ทุก 2 – 4 สัปดาห์ หรือวันละ 1 ครั้ง ในช่วง 2 – 3 วันก่อนออกไปทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอากาศร้อนนาน ๆ หรือทำให้มีเหงื่อออกมาก
สังคังคืออะไร มีสมุนไพรอะไรรักษาได้
สังคัง คือ โรคกลาก (ขี้กลาก) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากในคนทุกวัย เกิดจากเชื้อราพวกเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) เชื้อราพวกนี้สามารถทำให้เกิดโรคตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ถ้าพบที่ใบหน้า คอ ลำตัว แขน ขา เรียกว่า กลากตามลำตัว (Tinea corporis) ถ้าพบที่ศีรษะเรียกว่า กลากที่ศีรษะ (Tinea capitis) ถ้าพบที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า (Athletw’s foot or Tinea pedis) พบที่เล็บ เรียกว่า โรคเชื้อราที่เล็บ หรือโรคกลากที่เล็บ และถ้าพบที่ขาหนีบจะเรียกว่า สังคัง (Tinea cruris)
อาการเริ่มแรกจะเป็นตุ่มแดง ๆ ที่ต้นขา หรือขาหนีบแล้วลุกลามเป็นวงไปที่ต้นขาด้านใน และอวัยวะเพศภายนอก (อัณฑะ หรือปากช่องคลอด) หรืออาจลามไปที่ก้น เป็นผื่นมีลักษณะสีแดง มีสะเก็ดและขอบชัดเจน มีอาการคันและมักเป็นทั้งสองข้าง มักเป็นในช่วงหน้าร้อนเพราะมีเหงื่อ อับชื้น การใส่กางเกงรัดแน่นเกินไป หรือคนที่อ้วนมาก ๆ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า
สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคกลากเกลื้อน
- กระเทียม ฝานกระเทียมแล้วนำมาถูบ่อย ๆ หรือตำคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็น โดยใช้ไม้เล็ก ๆ หรือไม้ไผ่ที่สะอาด ขูดบริเวณที่เป็นพอให้ผิวแดง ๆ ก่อนแล้วจึงเอาน้ำกระเทียมขยี้ทา
- ข่า เอาหัวขาดแก่ ๆ ล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบาง ๆ หรือทุบให้แตกนำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 1 คืน ทำความสะอาดบริเวณที่เป็น และใช้ไม้บาง ๆ เขี่ยให้ผิวแดง ๆ และใช้น้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็น
- ชุมเห็ดเทศ ใช้ใบสดขยี้ หรือตำให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย หรือใช้ใบชุมเห็ดเทศกับหัวกระเทียมเท่า ๆ กัน ผสมปูนแดงที่กินกับหมากนิดหน่อย ตำผสมกันทาบริเวณที่เป็นกลาก
- ทองพันชั่ง ใช้ใบ หรือราก (จำนวนที่ใช้อาจเพิ่ม หรือลดลงได้ตามอาการ) ตำให้ละเอียด แช่เหล้า หรือแอลกอฮอล์พอท่วมยาและทิ้งไว้ 7 วัน นำมาทาบริเวณที่เป็น
- พลู นำใบพลูสดประมาณพอเหมาะมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมแอลกอฮอล์ หรือเหล้าขาว แล้วใช้น้ำคั้นทา
การป้องกันโรคเชื้อรา
อาจป้องกันได้โดยอย่าคลุกคลี หรือใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรคนี้ และควรรักษาร่างกายให้สะอาดทั่วถึงอย่างสม่ำเสมอ และระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้น
☎️ ปรึกษาสุขภาพ : 021 752 666
📍 ที่ตั้ง : บ้านเขาย้อย อำเภอศรีสัตตนาค
นครหลวงเวียงจันทน์ (ใกล้วัดศรีเมือง)
💡 นัดหมายออนไลน์ ลงทะเบียนฟรี รับสิทธิพิเศษในการดูแล